28 July 2013

อินทผาลัม ใบที่สองที่รอคอย

หลังจากที่เงียบหายไปนาน ตอนนี้ อินทผาลัม ต้นน้อยๆ ก็เริ่มแตกใบที่สองให้ชื่นชมแล้ว

 นับจากวันที่ เพาะอินทผาลัม จนถึงตอนนี้ ก็นับเวลาได้ประมาณ สองเดือน ใบที่สองก็เริ่มโผล่ขึ้นมา

ขั้นตอนต่อไป ก็คงต้องขยับขยายบ้านใหม่ให้ ต้นอินทผาลัมอีกที

 เพราะบางต้นมีใบสองใบไม่พอ ยังแทงรากออกมาจากถุงดำให้เฉยชมอีก

(สงสัยจะออกมาบอกว่า ..ถุงดำมันเล็กไปแล้ว..ชั้นอึดอัดมากกก)

ช่วงนี้อยู่ในช่วงฝนด้วย ก็ต้องคอยระวังไม่ให้โดนน้ำเยอะ เดี๋ยวจะเน่าเอาได้ง่ายๆ เดี๋ยวพอได้เวลาเหมาะๆก็คงได้ฤกษ์ เปลี่ยนถุงเพาะอินทผาลัมใหม่
(มีเวลา พี่จะหาบ้านใหม่ให้นะจ๊ะ น้องอิน)

 อินทผาลัมเชียงใหม่ เริ่มแน่ใจว่าจะมีประชากรเพิ่มแล้ว อิอิ

13 July 2013

อินทผาลัม แรงบันดาลใจสู่เกษตรพอเพียง

หลังจากที่ได้ข้อคิด คำถาม คำตอบ จากคนรอบข้าง ถึงเรื่องของอินทผาลัม ที่ได้ทดลองเพาะไว้

ตัวเองก็ได้คำตอบว่า "มีความสนใจ ว่าจะลองลงมือทำการเกษตรดู"

แต่จะทำการเกษตรแบบไหน " เลือกเกษตรพอเพียง"

เพราะเรามือใหม่ ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องเกษตร ไม่มีประสบการณ์ทางการเกษตร (เพิ่งมีตอนเพาะอินทผาลัม....นิดหน่อย) ไม่มีตลาดค้าขายด้วย

แต่เมื่อใจมันอยาก ก็ต้องลอง เริ่มจากปลูกพืชผักสวนครัว รั้วกินได้ นี่แหละ ไม่ต้องลงทุนเยอะ โตมาก็ได้กิน พื้นที่ก็ไม่ต้องเยอะ ลงทุนแรงกับเวลา ไปก่อน

หากมีช่องทางค่อยขยับขยาย หาความรู้ประสบการณ์ไปก่อน

"ต้นไม้จะโตต้องอาศัยเวลา คนจะชำนาญก็ใช้เวลาเหมือนกัน"

"ขอบคุณ อินทผาลัม ที่สร้างแรงบันดาลใจ ให้คนๆหนึ่งได้ลองทำอะไรใหม่"

หนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร  ให้มันเป็นไป

มาเริ่มนับหนึ่งด้วยกันสำหรับเพื่อนๆ เกษตรกรมือใหม่ เกษตรพอเพียง.....

07 July 2013

อินทผาลัม ขำๆ ( รึไม่ขำ )

ด้วยอารมณ์ดีใจที่เห็น อินทผาลัม สุดที่เลิฟ งอกงามดี

ก็เลยอยากแบ่งปันให้คนรอบๆข้างได้รับรู้บ้าง

ก็เลยจัดการถ่ายรูป "น้องอิน" ไปอวดชาวบ้านหน่อย

 "ต้นอินทผาลัมที่ปลูกเองกับมือ" มีใบแล้วเนี่ย เห็นปะ!!! มีตั้ง 62 ต้นเลย (หน้าบ้าน เต็มที่)

 "แล้วจะเอาไปปลูกที่ไหน"

 "แล้วโตไปจะเอาไปขายที่ไหน"

 "ทำไมไม่เอากล้าไปขาย น่าจะได้เยอะกว่าเก็บไว้ปลูกเองนะ"

จากหน้า ที่บานเท่ากระด้ง หดหรือแค่สองนิ้ว

"ไม่มีที่ปลูกก็ขาย รึแจกก็แล้วกัน ถ้ามันโตมีลูก ก็กินเอง กินไม่ไหมดก็แจก แจกยังเหลือค่อยขายก็ได้"

"รอมันโตกว่านี้หน่อย ค่อยว่ากัน เนอะ "

 ว่าแล้วก็รีบกลับบ้านเลย ................ เสร็จแล้ว

เสร็จแล้วกลับมานั่งคิด

 "เราเพาะเมล็ดอินทผาลัม เพราะเราอยากลอง เราชอบ เราสนุกที่ได้ทำ และ เราก็อยากเห็นผลเห็นลูกของมัน"

 "ไม่ได้คิดว่าจะขาย ไม่ได้คิดว่าจะปลูกเป็นสวนๆ แค่อยากรู้อยากเห็นว่ามันจะรอดไหมเองอะ"

 เฮ้อ! ไม่ทันได้คิดไปไกล ซะขนาดนั้นเลย (ขำไม่ออก)

02 July 2013

อินทผาลัม ตั้งใบสวยงาม

"หุหุหุ..."

 "รายการฝันที่เป็นจริง วันนี้ขอเสนออออออ......ต้นอินทผาลัมติดใบเลี้ยง"

ใบเลี้ยงอินทผาลัม
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อหล่ะนะ ที่ผ่านมาเอาแต่เพ้อ มโนนั่นมโนนี่ วันนี้มีออกมาให้เห็นตัวเป็นๆแล้ว

ตอนนี้อยากเป็นพี่เบริ์ดจังเลย จะได้บอกกับ "น้องอิน " ว่า

"พี่เบริ์ดรักทุกต้นนะครับ อิอิอิ"

หลังจากที่อิ่มเอมไปกับการโชว์ใบเลี้ยงเขียวๆของอินทผาลัมแล้ว

มันรู้สึกตื้นตัน อิ่มอกอิ่มใจ อย่างบอกไม่ถูก ปนๆกับอาการหลงตัวเองนิดหน่อย

"เราก็เก่งใช่เล่นนะเนี่ย"

อาจเป็นเพราะว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิด ไม่เคยลอง ไม่ได้สนใจที่จะมาทำอะไรแบบนี้ แต่พอเห็นว่าสิ่งที่ทำลงไปมันสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว มันรู้สึกดีไม่น้อยเลยจริงๆ

ปล.ก็เลยเอาความสุขเล็กๆน้อยที่ได้จากน้องอินทผาลัม มาแบ่งๆกัน จะได้ยิ้มด้วยกันอย่างมีความสุข

อย่าว่ากันเลยนะ "คนมันมีความสุขอะ"

28 June 2013

ปลูกอินทผาลัม ทำให้คนปลูกเป็นบ้า

ก่อนอื่นต้องขออนุญาตคุณผู้อ่านทุกท่าน ที่ตั้งชื่อหัวข้อ "เรียกแขก" เช่นนี้

ประมาณ อยากเล่าให้ฟังว่า เมื่อลงมือปลูกอินทผาลัม ไปสักระยะหนึ่ง รู้สึกว่าตัวเอง  "บ้าไปแล้ว" มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ

หลังจากที่ได้เอา "น้องอิน" ลงถุงเพาะแล้ว มันรู้สึกกระวนกระวายใจ อยากเห็นหน้าน้องอิน อยู่ตลอดเวลา อาการแบบนี้เป็นวันละหลายๆรอบ ทั้งเช้า สาย บ่าย เย็น

ยืนมองก็แล้ว รดน้ำให้ก็แล้ว ยังไม่พอใจ เอาทางมะพร้าวไปพรวนดินให้อีก
(กลัวดินในถุงเพาะจะแน่นน้องอินหายใจไม่ออก..อิอิอิ)

เป็นแบบนี้อยู่เรื่อยๆ ประมาณ 2 สัปดาห์ อาการหนักกว่าเดิม รดน้ำ พรวนดิน ไม่พอใจ ขอคุ้ยดินดูรากขาวๆของน้องอินสักหน่อย พอให้รู้ว่ายังอยู่ดีมีสุข ก็ชื่นใจ

แล้วพอเริ่มสัปดาห์ที่ 4 ก็เป็นหนักยิ่งกว่าเดิม เมื่อรากขาวๆ ของน้องอิน มียอดเล็กๆแทงโผล่ขึ้นมาเหนือผิวดิน

" โอ้ว ! น่ารักน่าชังแท้ๆ"

 
อินทผาลัมแทงยอดอ่อน
"บ้าไปแล้ว"

เช้ามานั่งจิบกาแฟ มอง "น้องอิน" จับนู้นนิด นี่หน่อย แล้วมานั่งยิ้ม ทำหน้าพริ้มให้กับตัวเอง
ปานว่า จะฟินกับพระเอกนางเอก "สุภาพบุรุษจุฑาเทพ" ซะอย่างงั้น

อยากบอก มันช่างมีความสุข จริงๆเลย

ใครจะหาว่าบ้า ก็ว่าไปเถอะ!

อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลย ใครก็ตามที่สนใจอินทผาลัม แล้วได้ลองเพาะเมล็ดอินทผาลัม ได้ปลูกอินทผาลัม กับมือของตนเอง หรือ อาจจะปลูกพืชชนิดอื่นๆด้วยตัวเอง เชื่อว่า ร้อยทั้งร้อยอารมณ์เดียวกันแน่ๆ อิอิอิ

27 June 2013

เพาะเมล็ดอินทผาลัม ปลูกยากขึ้นลุ้นให้ขึ้น

หลังจากที่ปล่อยให้ลุ้น ใจเต้น ตุ้มๆต่อมๆ อยู่ในกล่องเกือบ 2 สัปดาห์

ก็จัดการเอา "น้องอิน" อินทผาลัม ออกจากขุยมะพร้าว มาขัดสีฉวีวรรณให้ผิวพรรณสวยงาม ออกมาโชว์ตัวกันหน่อย (ขอเสียงปรบมือหน่อย..คร้าบบบ มาทั้ง 62 เม็ด เลย)


เมล็ดอินทผาลัมบ่มขุยมะพร้าว
"น้องอิน" อินทผาลัม สูง ยาว ขาวดี
และแล้วก็ถึงเวลา เอา "น้องอิน" ลงหลุุม (ฮือ..ฮือ..ฮือ..เรื่องมันเศร้า)

" ไม่ใช่ละ! "  มันเป็นขั้นตอน ที่จะเอา "น้องอิน"  มาลงถุงเพาะต่างหากเล่า

ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ยากขึ้นและลุ้นให้ขึ้นมากๆ(ปลูกไปภาวนาไป...สาธุ..ขอให้งอกเถอะ)

การเพาะเมล็ดอินทผาลัมในถุงเพาะ
ก่อนอื่นก็เตรียมดินสำหรับเพาะเมล็ดอินทผาลัมไว้ก่อน
โดยใช้ดินปลูกที่หาซื้อตามร้านทั่วไป ถุงละ 30 บาท ผสมกับขุยมะพร้าวในอัตราส่วน 60:40
แล้วมาคลุกให้เข้ากัน

ใช้ถุงเพาะขนาด 2X4 นิ้ว กำลังดี หลังจากกรอกดินลงถุงเพาะแล้ว ใช้ทางมะพร้าวจิ้มๆเป็นทางนำรากอินทผาลัมลงไป (รากยาวต้องเบามือหน่อย เดี๋ยวน้องอินลงหลุมแล้วไม่ฟื้น)

หย่อนรากอินทผาลัมลงไป เขี่ยดินกลบราก โดยวางเมล็ดให้อยู่เหนือหน้าดินไว้ ไม่ต้องกลบ
เมล็ดอินทผาลัม (กลัวจะเน่าแทนที่จะงอก...555)

เสร็จแล้วก็รดน้ำให้ชุ่มเป็นอันเสร็จพิธี ตอนนี้ก็พยายามดูแลอย่าให้ดินแห้งหรือแฉะจนเกินไป (ดินแห้งไม่โต ดินแฉะเน่า)

เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ไปแล้วการปลูกอินทผาลัมก็ใกล้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว และคิดมโนว่าในอนาคตจะช่วยเพิ่มประชากรอินทผาลัมเชียงใหม่ได้แน่ๆ ดีใจจุงเบยย

26 June 2013

เพาะเมล็ดอินทผาลัม ไม่ยากแต่ลุ้นเยอะ

บอกแล้วว่าเพาะเมล็ดอินทผาลัมไม่ยาก ต่อจากขั้นตอนที่แล้ว
(แค่ล้างน้ำและก็แช่เมล็ด มันจะยากตรงไหนเนี่ย... )

เอาละหลังจากที่แช่น้ำไว้ 3 วัน ก็ถึงเวลาที่จะบ่มเพาะกันซะที
ซึ่งขั้นตอนนี้ก็ไม่ยากเหมือนกัน แต่ลุ้นเยอะหน่อยเท่านั้นเอง

การบ่มเพาะเมล็ดอินทผาลัม เท่าที่ได้ศึกษามาพบว่ามีวิธีที่น่าสนใจอยู่ 2 วิธีด้วยกัน คือ

เพาะเมล็ดอินทผาลัมด้วยกระดาษทิชชู่
วิธีที่ 1 การบ่มเพาะเมล็ดอินทผาลัมด้วยกระดาษทิชชู่

โดยเริ่มจาก หากล่องพลาสติก (ในที่นี้ใช้กล่อง LockLocK นี่ไม่ได้ค่าโฆษณานะ) แล้วใช้กระดาษทิชชู่พับให้เท่ากับขนาดของกล่อง หนาประมาณ 4-5 ชั้น พรมน้ำให้พอเปียก

เสร็จแล้วก็เอาเมล็ดอินทผาลัมมาจัดเรียง และปิดฝาให้เรียบร้อย

เก็บไปไว้ในที่ค่อนข้างร้อนอบอ้าวหน่อยๆ เช่น ห้องครัว หรือในลิ้นชักโต๊ะ   แบบนี้ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์
ก็จะเริ่มมีรากขาวๆโผล่มาให้ชื่นใจ

เพาะเมล็ดอินทผาลัมด้วยขุยมะพร้าว
วิธีที่ 2 การบ่มเพาะเมล็ดอินทผาลัมด้วยขุยมะพร้าว

วิธีการนี้ก็ใช้กล่องพลาสติกเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนจากกระดาษทิชชู่เป็นขุยมะพร้าวแทน วิธีการก็คือ นำขุยมะพร้าวที่เตรียมไว้ไปชุบน้ำแล้วนำมาใส่ไว้ในกล่องที่เตรียมไว้ นำเมล็ดอินทผาลัมที่เตรียมไว้ มาเรียงกันไว้โดยให้คว่ำด้านที่ไม่มีร่องลง

จากนั้นก็ปิดฝาไว้ให้เรียบร้อยและนำไปเก็บไว้ในที่ค่อนข้างร้อนอบอ้าวหน่อยๆ เช่น ห้องครัว หรือในลิ้นชักโต๊ะ เช่นเดิม ด้วยวิธีนี้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 อาทิตย์ก็ได้เมล็ดอินทผาลัม พร้อมลงดินแล้ว....

ช่วงระหว่างรอ ก็ให้มโนกันไป ว่าเพาะเล็ดอินทผาลัมแล้วจะงอกรึเปล่า เราจะปลูกอินทผาลัมโตรึเปล่า อินทผาลัมจะออกใบรึไม่ออก อินทผาลัมเชียงใหม่จะโตได้รึป่าว ก็ว่ากันไป ลุ้นกันไป

ช่วงนี้ก็อย่าพยายามเปิดกล่องดูบ่อยนัก....เดี๋ยวคนอื่นเขาจะหาว่าบ้า (เพราะตัวเองเปิดดูวันละ 2 หน เผื่อมันจะโตเร็วเหมือนต้นถั่วในแจ็คผู้ฆ่ายักษ์..อิอิ)

ถ้าเห็นว่าเมล็ดเหมือนจะแห้งก็พรมน้ำให้หน่อย จะได้มีชีวิตชีวาได้ทำอะไรนิดๆหน่อยๆพอชื่นใจ จะได้มีแรงลุ้นๆกันต่อไป

เพาะเมล็ดอินทผาลัม ไม่ยากหรอก

เพาะเมล็ดอินทผาลัม
หลังจากที่ได้ด้อมๆมองๆ "อินทผาลัม"หาความรู้จากเว็บไซค์ต่างๆ อยู่นานสองนาน ว่าจะลองเพาะเมล็ดอินทผาลัม ดูจะเป็นอย่างไร

ก็ชักจะมีความมั่นใจมากขึ้นว่า

"ถ้าลงมือเพาะเม็ดอินทผาลัม ด้วยตนเองคงทำได้ไม่ยาก และมันก็คงจะงอกด้วยแน่ๆ"

ก็เลยเอาซะหน่อย มาลอง เพาะเมล็ดอินทผาลัม จากเมล็ดที่กินไปแล้วนี่แหละง่ายดี
เพราะว่าการออกไปหาอินทผาลัมเชียงใหม่ มันช่างหายากจริงๆ
อินทผาลัมเชียงใหม่ส่วนใหญ่เขาก็มีแบบเป็นต้นเรียบร้อยแล้ว แต่ว่าแบบนี้มันไม่ใช่สำหรับคนอยากลองทำเองอะนะ

แล้วอินทผาลัมที่กินไป ก็ดันเป็นอินทผาลัมสายพันธุ์ Deglet Nour  "ราชินีอินทผาลัม" ซะด้วย มาลงมือกันเลยดีกว่า

"เริ่มจากไปตามเก็บเมล็ดอินทผาลัมที่เคยทิ้งไป" (ได้มาตั้ง 62 เม็ด โอ้...ไม่น่าเชื่อ!)

"รวบรวมมาทำความสะอาดซะหน่อย"
เพราะในเว็บเขาบอกว่า "ต้องเอาเยื่อบางๆที่ติดอยู่กับเมล็ดออกให้หมด จะได้ไม่ขึ้นรา"

"เสร็จแล้วก็เอาไปแช่น้ำทิ้งไว้ก่อน"
ในหลายๆที่บอกว่าเมล็ดผลสดต้องแช่น้ำไว้ประมาณ 1 วัน หากเป็นผลแห้งแช่ไว้ประมาณ 2 วัน
แต่เรามันพวกชอบลองไหนๆก็อยากรู้ตั้งแต่ต้นแล้วนี่

"จัดการแช่น้ำไว้ซะ 3 วันไปเลย"  ดูดิมันจะเป็นอย่างไร มาติดตามกันดู

ปล.เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง เพาะเมล็ดอินทผาลัม ไม่ยากหรอกเชื่อเหอะ (ภาวนาให้มันงอก อิอิอิ)

สายพันธุ์อินทผาลัม รู้จักอินทผาลัมอีกนิด

จากที่ได้รู้ว่า "อินทผาลัม" ในโลกนี้มีสายพันธุ์ ตั้ง 600 กว่าสายพันธุ์ แล้วมีสายพันธุ์อินทผาลัมอะไรบ้างซึ่งพอจะรวบและเสาะหามาได้ว่า

"ราชาแห่งอินทผลัม" คือ อินทผลัมสายพันธุ์ Madjool

"ราชินีแห่งอินทผลัม" คือ อินผาลัมสายพันธุ์ Deglet Nour

นอกจากนี้ยังมีสายพันธุ์อินทผาลัม อื่นๆที่สำคัญดังต่อไปนี้
  • Aabel ปลูกกันมากในลิเบีย 
  • Ajwah จากเมือง Medina ประเทศซาอุดิอารเบีย 
  • Al-Barakah จากประเทศซาอุดิอารเบีย 
  • Amir Hajj หรือ 'Amer Hajj จากประเทศอิรัก 
  • Abid Rahim จากประเทศซูดาน ในประเทศไนจีเรียเรียกว่า Dabino 
  •  Barakawi จากประเทศซูดาน 
  • Barhee หรือ Barhi เป็นหนึ่งในไม่กี่สายพันธุ์ที่สามารถกินผลดิบเมื่อยังมีผิวสีเหลือง 
  • Bireir จากประเทศซูดาน 
  • Datça Date จากประเทศตุรกี 
  • Deglet Nour ประเทศตูนีเซียเป็นผู้นำในการส่งออกอินทผลัมชนิดนี้ 
  • Derrie or 'Dayri' (the 'Monastery' date) จากภาคใต้ของอิรัก 
  • Empress พัฒนาสายพันธุ์โดยครอบครัว DaVall ในเมืองอินดิโอ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา 
  • Fardh or Fard  มีทั่วไปในประเทศโอมาน 
  • Ftimi หรือ 'Alligue' จากประเทศตูนีเซีย 
  • Holwah (Halawi) Haleema จากประเทศลิเบีย(เป็นชื่อของสตรี) 
  • Hayany จากประเทศอียิปต์ (เป็นชื่อของบุรุษ) 
  • Iteema พบทั่วไปในประเทศอัลจีเรีย 
  • Khajur พบทั่วไปในประเทศอินเดีย/ปากีสถาน 
  • Kenta พบทั่วไปในประเทศตูนีเซีย Khadrawy เป็นสายพันธุ์ที่นิยมของชาวอาหรับส่วนใหญ่ 
  • Khalasah เป็นสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศซาอุดิอารเบีย โดยมีชื่อเสียงในเรื่องความหวานพอดี 
  • Khastawi (Khusatawi, Kustawy) เป็นสายพันธุ์ชั้นนำชนิดหนึ่งของประเทศอิรัก 
  • Maktoom เป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ 
  • Manakbir เป็นสายพันธุ์ที่มีผลขนาดใหญ่และสุกก่อนพันธุ์อื่น 
  • Medjoolหรือ (Mejhool) สายพันธุ์จากประเทศโมร็อคโค นอกจากนี้ยังเพาะปลูกในประเทศสหรัฐอเมริกา ซาอุดิอารเบีย จอร์แดน อิสราเอล ผลมีขนาดใหญ่และหวานฉ่ำ เป็น"ราชาแห่งอินทผลัม"ในประเทศไทยเรียกว่า "สายพันธุ์เจ็ดเม็ดศอก" ที่มาคือเมื่อนำผลอินทผาลัมสายพันธุ์นี้มาเรียงต่อกันเจ็ดเม็ดจะยาวประมาณหนึ่งศอก 
  • Migraf (Mejraf) เป็นที่นิยมในพื้นที่ตอนใต้ของประเทศเยเมน 
  • Mgmaget Ayuobจากเมือง Hoon,ประเทศลิเบีย 
  • Mishriq จากประเทศซูดานและซาอุดิอารเบีย 
  • Mozafati จากประเทศอิหร่าน พันธุ์นี้เหมาะกับการบริโภคสดมาก เพราะสามารถเก็บไว้ได้ยาวนาน 
  • Nabtat-seyf พบในประเทศซาอุดิอารเบีย 
  • Rotab จากประเทศอิหร่าน 
  • Sag‘ai จากประเทศซาอุดิอารเบีย 
  • Saidy(Saidi) สายพันธุ์นี้เป็นที่นิยมในประเทศลิเบีย 
  • Sayer(Sayir) ผลมีขนาดกลางสีน้ำตาลส้มเข้ม นุ่มและเยิ้ม 
  • Sekkeri (lit. sugary)จากประเทศซาอุดิอารเบีย และเป็นสายพันธุ์ที่มีราคาแพง 
  • Sellaj จากประเทศซาอุดิอารเบีย 
  • Tagyat พบทั่วไปในประเทศลิเบีย 
  • Tamej พบทั่วไปประเทศลิเบีย 
  • Thoory (Thuri) เป็นสายพันธุ์ที่นิยมในประเทศอัลจีเรีย 
  • Umeljwary พบในประเทศลิเบีย 
  • Umelkhashab จากประเทศซาอุดิอารเบีย 
  • Zahidi ผลมีขนาดกลางรูปทรงกระบอกสีน้ำตาลอ่อน กึ่งแห้งและหวานมาก 
  • Zaghloul อินทผลัมสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ผูกขาดและเป็นส่วนประกอบของชาตินิยมของชาวอียิปต์ (Saad Zaghloul เป็นวีรบุรุษที่สำคัญของชาวอียิปต์) 
รวบรวมเรียบเรียงจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Phoenix_dactylifera#Cultivars_of_dates
นอกจากนี้อินทผาลัมเชียงใหม่ ยังมีสวนที่มีพันธุ์เป็นของตัวเองด้วยนะ เยี่ยมจริงๆ

25 June 2013

อินทผาลัม คือ อะไร?

ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่า 
นับจากที่ได้ยินคำว่า "อินทผาลัม" ตลอดเวลาล่วงเลยมา 10-20 ปี 
ก็ไม่รู้ว่ามันมีหน้าตาเป็นอย่างไร ไม่เคยได้กิน ไม่เคยเห็น ไม่เคยสนใจ

แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา (2556) ได้รับของฝากเป็นอินทผาลัมผลแห้ง มาลองกินดู
พอกัดกินคำแรก 
(ภาพประกอบจากอินเตอร์เนท)

"โอ้แม่เจ้า ! มันหวานมาก บาดคอสุดๆ ยังกะเอาแช่น้ำเชื่อมเลย "

อย่ากระนั้นเลยเอาไปแช่ตู้เย็นไว้ก่อนดีกว่า ค่อยๆกินไป
(จะได้ไม่เสียน้ำใจคนเอามาฝาก... อิอิอิ)

ผ่านไป 1 วัน ทำใจเอาออกมากินใหม่ คราวนี้พอกัดกินคำแรกก็ตกใจอีกที

"โอ๊ะ! แช่เย็นแล้ว มันอร่อยขึ้นแฮะ ไม่หวานมาก เนื้อแน่น เคี้ยวหนึบดี"

"มันแปลกจริงหนอ"

ต่อมอยากรู้อยากเห็นก็เริ่มทำงาน 

"ทำไมมันเป็นแบบนี้เนี่ย"

ก็เลยเข้าอินเตอร์เนท หาความรู้ประดับสมองสักหน่อยดีกว่า ว่า "อินผาลัม" 
รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง มีที่มาอย่างไร 
เพาะปลูกอย่างไร  
คุณค่าทางโภชนาการอินทผาลัมมีอะไร


(ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)
ซึ่งหลังจากที่อ่านมาก็พอสรุปได้ว่า
อินทผลัมเป็นพืชตระกูลปาล์ม ชื่อสามัญ Dates ชื่อวิทยาศาสตร์ Phoenix dactylifera, L. 

มีหลายสายพันธุ์มาก ทั่วโลกมีประมาณ 600 สายพันธุ์ ส่วนใหญ่มีอยู่ในแถบตะวันออกกลาง 

ลำต้นมีความสูงประมาณ 30 เมตร ขนาดลำต้นก็ประมาณ 30-50 เซนติเมตร ใบเป็นใบย่อยพุ่งออกหลายทิศทาง มีลักษณะแบบขนนก ทางใบยาวประมาณ 3-4 เมตร

ช่อดอกจะออกจากโคนใบ 
มีผลทรงกลมรี ยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร 
ออกเป็นช่อ รสหวานฉ่ำ ทานได้ทั้งผลดิบและสุก ขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์

มีรสชาติหวานจัด จึงมักถูกเข้าใจผิดว่ามีการนำไปเชื่อมด้วยน้ำตาล 
(เข้าใจผิดเหมือนกันเลย นึกว่ามีแค่เราคนเดียว)

คุณค่าทางโภชนาอินทผาลัม ก็มีดังนี้
1. ด้านคุณค่าทางโภชนาการ สารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายของอินทผลัม เช่น แคลเซียม ซัลเฟอร์ เหล็ก โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมงกานีส แมกนีเซียม และน้ำมันโวลาไตล์ อุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร ซึ่งช่วยลดอาการท้องผูก ให้พลังงานสูง บำรุงร่างกายที่อ่อนล้า นอกจากนี้ยังสามารถบำรุงกล้ามเนื้อมดลูกและสร้างน้ำนมแม่ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

2. ด้านการรักษาโรค อินทผลัมช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงสายตา ลดความหิว แก้กระหาย แก้โรควิงเวียนศีรษะ ช่วยลดเสมหะในลำคอ ทำให้กระดูกแข็งแรง ลดระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังฆ่าเชื้อโรค พยาธิและสารพิษที่ตกอยู่ในลำไส้และระบบทางเดินอาหาร มีฤทธิ์ในการกำจัดสารพิษและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคอันเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งในช่องท้อง
แหล่งข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org/wiki/อินทผาลัม

คราวนี้ก็พอจะรู้จักอินทผาลัมเพิ่มมากขึ้นละ อยากลองปลูกอินทผาลัมดูซะแล้วสิ มาลองกันเลยดีกว่า

อินทผาลัมเชียงใหม่

ยินดีต้อนรับทุกท่าน เข้าสู่ kasetcyber.blogspot.com ซึ่งทุกท่านจะได้สัมผัสและเรียนรู้ร่วมกัน เกี่ยวกับอินทผาลัมเชียงใหม่ การเพาะเมล็ดอินทผาลัม การปลูกอินทผาลัม ตลอดจนเรื่องราวเกี่ยวกับการเกษตรที่หลากหลาย ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งต่างใน kasetcyber.blogspot.comนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน